NVD 1.76 บาท -0.05 (-2.76%)
EN

การจัดซื้อจัดจ้าง

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการบริหารงานจัดซื้อจัดจ้างและการจัดการบริหารห่วงโซ่อุปทานที่มุ่งเน้นคุณภาพสินค้าและบริการ โดยกำหนดให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง โดยคำนึงถึงคุณภาพ ปริมาณ การส่งมอบสินค้า และบริการที่ได้รับ รวมถึงข้อกำหนดตามกฎหมาย และระบบจัดการคุณภาพต่างๆ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ปริมาณ การส่งมอบสินค้าและบริการ รวมทั้งความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กร มีการจัดทำระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างต่อคู่ค้าขอบริษัทฯ ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งคู่ค้าและพนักงานยึดถือและปฏิบัติ ตามอย่างเคร่งครัด โดยมีเนื้อหาและขอบเขตของแนวทางการปฏิบัติภายใต้ระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทั้งทางด้าน จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมตามหลัก บริษัทฯ จึงกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. บริษัทฯ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  2. บริษัทฯ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยพิจารณาจากคุณภาพ ราคา ปริมาณ การให้ บริการ และความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าและบริการ ตลอดจนการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  3. บริษัทฯ ปฏิบัติต่อคู่ค้าและผู้รับเหมาทุกรายด้วยความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน เพียงพออย่างเท่าเทียมกัน
  4. บริษัทฯ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  5. บริษัทฯ มีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและ ทางอ้อม
  6. หากคู่ค้าและผู้รับเหมาพบว่าบุคลากรของบริษัทฯ มีการดำเนินการใดๆ ที่ไม่โปร่งใส หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ต้องแจ้งบริษัทฯ ทราบทันที

ทั้งนี้ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนของบริษัทฯ มีหน้าที่สนับสนุน ผลักดัน และปฏิบัติตามนโยบายและกรอบการบริหารงานจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด

จรรยาบรรณการจัดซื้อจัดจ้าง (Purchaser Code of Conduct)

พนักงานของบริษัทฯ จะต้องยึดถือและต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณนี้อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  1. พนักงานต้องทำการซื้อขายโดยซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจ
  2. พนักงานต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ของกิจการ
  3. พนักงานต้องหลีกเลี่ยงการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
  4. พนักงานต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ เพื่อให้เกิดคุณค่าแก่รายจ่ายที่ได้จ่ายไป
  5. พนักงานต้องให้คำปรึกษาและช่วยแนะนำผู้ซื้อ
  6. พนักงานต้องต้อนรับคู่ค้าอย่างสุภาพ
  7. พนักงานต้องแสวงหาความรู้เกี่ยวกับวัสดุ เทคโนโลยี สภาวการณ์ของตลาด และกระบวนการผลิต
  8. พนักงานต้องรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
  9. พนักงานต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทุกหน่วย

การรวบรวมปริมาณการใช้งานที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ

การประมาณการปริมาณงานชัดเจน

การคัดกรองคุณสมบัติคู่ค้าเบื้องต้น

คัดกรองคู่ค้าที่มีขนาดธุรกิจเดียวกัน คุณสมบัติใกล้เคียงกัน อยู่กลุ่มเดียวกัน

การประเมินศักยภาพคู่ค้า

ประเมินศักยภาพ ประสบการณ์ ผลงานตรงกับงานที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง

การกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง

คณะทำงานร่าง TOR พร้อมรายละเอียดส่งมอบให้คู่ค้าทุกรายเหมือนกัน

การกำหนดราคากลางในการประมูล

มีมาตรฐานในการพิจารณาราคาที่เป็นมาตรฐานที่ดี มีความเที่ยงตรงในการกำหนดราคากลาง แยกตามประเภทสินค้าและบริการ

การลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง

คู่ค้าที่ชนะการประมูลและสรุปราคาขั้นสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว รอนัดหมายจากฝ่ายกฎหมายเพื่อลงนามสัญญาร่วมกันต่อไป

การติดตามและประเมินผลคู่ค้า

หากคู่ค้ารายใดที่ทำตามผลงานที่ทำได้ 75% ขึ้นไป จะได้รับการเชิญเข้าร่วมงานประมูลในครั้งต่อๆ ไป

เนอวานามีนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการดำเนินงาน จึงได้มีการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยนำแนวทางการจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยได้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ วัสดุสนับสนุนการผลิต วัสดุอะไหล่ และวัสดุทั่วไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การดำเนินงานของฝ่ายจัดซื้อและธุรการมีความสอดคล้องต่อนโยบายหลักของบริษัท จึงได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อ ดังนี้

  1. พนักงานทุกคนต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถควบคุมและลดการเกิดขยะ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  2. คัดเลือกสินค้าและบริการที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิต โดยพิจารณาตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดหลังการใช้งาน
  3. สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวฯ
  4. คัดเลือกผู้ขายและผู้ให้บริการที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก
  5. จัดทำขั้นตอนและวิธีการจัดซื้อ/จัดจ้าง ที่เป็นธรรมและให้ความเสมอภาคกับทุกองค์กร

ในปี 2565 มีมูลค่าการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงมากขึ้น รวมเป็นเงิน 787,455 บาท (มูลค่าการสั่งซื้อแอร์ inverter) เนื่องจากได้ขยายขอบเขตการจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปยังกลุ่มวัตถุดิบ วัสดุสนับสนุนการผลิต และวัสดุอะไหล่อย่างเป็นรูปธรรม

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายสีเขียว โดยสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาคู่ค้าทั้งในเชิงพานิชย์และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลองค์กรที่ดี เพื่อส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายรวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้า (Supplier Relationship Management)

บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดอบรมและประชุมกับคู่ค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเสริมความเข้าใจในข้อกำหนดร่วมกันด้านความยั่งยืน ที่มุ่งเน้นให้คู่ค้าและผู้รับเหมามีการพัฒนาการจัดการที่ดีเกี่ยวกับความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืน เช่น การให้คำแนะนำและวางแผนพัฒนาศักยภาพคู่ค้าที่ไม่ผ่านการประเมิน การอบรมผู้รับเหมาทุกครั้งก่อนเข้าปฏิบัติงาน เป็นต้น

บริษัทฯ กำหนดมาตรการบริหารจัดการคู่ค้า เพื่อให้การดำเนินงานของคู่ค้าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถตอบสนองความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น บรรลุเป้าหมาย โดยสามารถรักษาคุณภาพของสินค้า/บริการ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่ค้าและบริษัทฯ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความตระหนักแก่คู่ค้าถึงจุดยืนขององค์กรด้านความยั่งยืน

บริษัทฯ มีมาตรฐานการคัดเลือก ประเมิน และตรวจสอบคู่ค้าอย่างยุติธรรมและโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล ความมั่นคงทางธุรกิจ และความเชื่อถือได้ของคู่ค้า รวมถึงสามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี โดยมีการบริหารจัดการคู่ค้า ประกอบด้วย

  • ระบบจัดการความเสี่ยงของคู่ค้าของบริษัทฯ ประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงในสายโซ่อุปทาน การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในสายโซ่อุปทาน (Spend Analysis) เพื่อระบุผู้ค้าที่มีความสำคัญในสายโซ่อุปทาน และจัดทำทะเบียนคู่ค้า (Approved Vender List: AVL) โดยใช้แบบสอบถาม (Vender Questionnaire) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าของบริษัทฯ ซึ่งจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
    1. ความสามารถทางเทคนิค (Technical)
    2. ความสามารถในการประกันคุณภาพและการควบคุมคุณภาพ (QA/QC)
    3. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SHE) และ
    4. การเงิน (Financial) รวมถึงการประเมินด้านจริยธรรมและการดำเนินตามกฎหมายแรงงาน
  • การจัดทำทะเบียนคู่ค้า (Approved Vendor List : AVL) เพื่อคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพร่วมธุรกิจ
  • หลังจากได้เข้าร่วมทะเบียนคู่ค้าแล้ว บริษัทฯ คู่ค้าจะต้องผ่านการประเมินประสิทธิภาพการทำงานรายปี (Yearly Performance Evaluation) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในรูปแบบการประเมินตนเองและการตรวจรับรอง Site Audit ตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดให้ตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการ อีกทั้งในระหว่างปีหน่วยงานผู้ใช้งานสามารถร้องเรียนและนำเสนอปัญหาที่เกิดจากการใช้งานหรือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลองค์กร โดยบริษัทฯ จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา และให้คำแนะนำประกอบกับวางแผนพัฒนาศักยภาพคู่ค้าร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงานและคู่ค้าก่อนการประเมินอีกครั้ง ทั้งนี้ หากคู่ค้าไม่สามารถดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดได้ บริษัทฯ จะระงับการจัดซื้อจัดจ้างชั่วคราวหรือถอนชื่อออกจากทะเบียนคู่ค้าของบริษัทฯ

การบริหารจัดการทะเบียนคู่ค้าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทะเบียนคู่ค้าและคณะทำงานทะเบียนคู่ค้า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงในการส่งมอบสินค้า บริษัทฯ ได้กำหนดเงื่อนไขในข้อกำหนด (TOR) ให้การดำเนินการของคู่ค้าต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีการควบคุมดูแลให้คู่ค้าปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ โดยเฉพาะงานที่มีความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยมีการจัดทำโครงการประเมินความเสี่ยงของงานที่เกี่ยวข้องกับผู้รับเหมา (Contractor Management) เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ หากคู่ค้าได้คะแนนไม่ผ่านตามที่กำหนดจะไม่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก

บริษัทฯ ตระหนักถึงการปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเป็นธรรม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย บริษัทฯ จึงให้ข้อมูลที่เป็นจริง รายงานที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามพันธสัญญา การเจรจาแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. พนักงานจะต้องป้องกันข้อมูลความลับของบริษัทฯ ขณะดำเนินการติดต่อธุรกิจกับผู้ขายอย่างเคร่งครัดโดยต้องรักษาข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากผู้เสนอราคาหรือเข้าร่วมประกวดราคาแต่ละรายไว้เป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นทราบ
  2. พนักงานจะต้องรักษาความลับที่ได้รับจากผู้ขาย เช่น ข้อมูลราคา สิทธิบัตร ตารางการผลิตและข้อมูลผลิตภัณฑ์ จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาต (Respect the Confidentiality of Information)
  3. พนักงานจะต้องทำการเรียกสอบราคา เปรียบเทียบราคา คุณภาพ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงความยุติธรรมในการแข่งขัน และไม่สอบหรือประกวดราคาแบบ “Covert Auctions” ซึ่งเป็นการกระทำที่ฉ้อฉล กล่าวคือ เปิดเผยราคาของผู้ขายรายที่ 1 เพื่อให้ผู้ขายรายที่ 2 สู้ราคา แล้วนำราคาใหม่ของผู้ขายรายที่ 2 ไปต่อรองกับผู้ขายรายที่ 1 เพื่อให้เสนอราคาต่ำกว่า เป็นต้น
  4. พนักงานจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับผู้ค้าในเชิงธุรกิจด้วยความเสมอภาค ไม่เรียกร้อง ไม่รับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม
  5. พนักงานจะต้องปฏิบัติต่อผู้ขายทุกรายอย่างเสมอภาคและยุติธรรม เช่น ได้รับแจ้งข่าวการประกวดราคาเหมือนกันและในเวลาเดียวกัน
  6. พนักงานจะต้องมีความโปร่งใสในการเชิญชวนผู้ขายให้เสนอราคาหรือเข้าประกวดราคา (Transparency in Criteria of Invitation to Tender) เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับผู้ค้าทุกราย
  7. พนักงานจัดซื้อต้องมีความโปร่งใสในการใช้วิธีการพิจารณาราคาที่ผู้ขายส่งเข้าประกวด (Transparency in Evaluating Bids) และสามารถชี้แจงได้ว่าพิจารณาการประกวดราคาตามหลักเกณฑ์อย่างไรและผู้ขายรายใดชนะการประกวดราคา (Transparency in Evaluating the Successful Supplier)
  8. ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อคู่ค้าอย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จะรีบแจ้งให้คู่ค้าทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักของความสมเหตุสมผล
  9. บริษัทฯ จะไม่เอาเปรียบคู่ค้า โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในด้านชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัทฯ ต่อสายตาของบุคคลภายนอกด้วย
  10. พนักงานผู้ดำเนินการจัดหาจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วนแก่คู่ค้า ด้วยวิธีการที่เปิดเผยและให้โอกาสแก่คู่ค้าอย่างเท่าเทียมกัน
  11. เจรจาต่อรองบนพื้นฐานของความสัมพันธ์เชิงธุรกิจเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายอย่างเปิดเผยและมีหลักฐาน
  12. พนักงานผู้ดำเนินการจัดหาควรรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะใดๆ ที่คู่ค้าร้องเรียนหรือแนะนำเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน

บริษัทมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงคู่ค้า และผลกระทบที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ภายใต้เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงที่บริษัทกำหนด รวมถึงประเด็นทั้ง 3 มิติด้านความยั่งยืน ประเด็นด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม

กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG เริ่มจากการจำแนกคู่ค้าตามกลุ่มลักษณะสินค้า เช่น ผู้รับเหมา ซัพพลายเออร์ งานบริการต่างๆ เพื่อนำมาจัดหมวดหมู่ตามผลกระทบและความเสี่ยงของกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งหน่วยงานจัดซื้อจะทำการประเมิน โดยการระบุประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่สำคัญในแต่ละมิติ เพื่อทำการพิจารณาระดับของผลกระทบ (Impact) และความเป็นไปได้ (Likelihood) ในตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) เพื่อระบุกลุ่มคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูง และเตรียมมาตรการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น โดยดำเนินการตามมาตรการควบคุม เพื่อลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ในกรณีกลุ่มคู่ค้าที่มีระดับความเสี่ยงสูงและสูงมาก บริษัทจะดำเนินการเข้าตรวจประเมินคู่ค้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG Audit) เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงที่พบได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

คำจำกัดความของคู่ค้าที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในระดับสูง

โดยในแบบประเมินผลงานของผู้รับเหมา ซึ่งครอบคลุมหัวข้อหลักตามมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง และหัวข้อด้านความยั่งยืน ได้แก่ การปฏิบัติงานต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติตามนโยบายสิ่งแวดล้อม การจัดการมลพิษและขยะจากงานก่อสร้าง ภายหลังการประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า สามารถจำแนกความเสี่ยงและแนวทางการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากคู่ค้า ดังนี้

ความเสี่ยงและโอกาส แนวทางการลดความเสี่ยง
ความเสี่ยงจากการพึ่งพาคู่ค้ารายใดรายหนึ่งมากเกินไป บริษัทมีนโยบายในการขยายฐานคู่ค้ารายใหม่ หาพันธมิตรทางการค้าเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการต่างๆ  จัดหน่วยงานดูแลและติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดสำคัญอย่างใกล้ชิด โดยจะทำการประเมินผลงานของผู้ค้าแต่ละราย (คู่ค้าหลัก) ทุก 6 เดือน
ความเสี่ยงจากการได้รับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ ฝ่ายพัฒนาโครงการ และฝ่ายควบคุมคุณภาพทำหน้าที่ตรวจประเมินคุณภาพงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในงานก่อสร้าง ก่อนส่งมอบบ้านให้กับลูกค้า
ความเสี่ยงจากการใช้แรงงานไม่ถูกกฎหมาย บริษัทกำหนดนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดให้กับคู่ค้า รวมถึงการใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมาย การไม่ใช้แรงงานเด็ก และการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงการดูแลความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเป็นไปตามหลักสากล
ความเสี่ยงจากการจัดการขยะจากสิ่งปลูกสร้าง บริษัทมีการกำหนดเรื่องการแยกขยะ และการจัดอบรมให้กับผู้รับเหมาเรื่องการคัดแยกขยะ การจัดการขยะหรือผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ที่ทำจากปูนสด ถุงปูน เศษเหล็ก กล่องกระดาษ และไม้อัด โดยขยะที่ได้รับการคัดแยกจะถูกนำไปขายให้กับผู้ซื้อของเสียที่ถูกต้องตามกฎหมาย

บริษัทฯ มีกระบวนการตรวจสอบและประเมินคู่ค้า เพื่อประเมินความเสี่ยง กำหนดแผนการแก้ไข ประเมินผลภายหลังดำเนินการแก้ไขตามแผนร่วมกัน โดยคำนึงถึงคุณภาพ/ปริมาณ/ความปลอดภัยในการผลิตและส่งมอบตามข้อกำหนดเบื้องต้น รวมถึงข้อกำหนดขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานการจัดการต่างๆ

ผลการตรวจประเมินคู่ค้าด้าน ESG

บริษัทได้ดำเนินการตรวจประเมินคู่ค้าด้าน ESG แบบระยะไกล (ESG e-Audit หรือ Remote Audit) จำนวน 12 ราย จากเป้าหมายที่กำหนดไว้จำนวน 10 ราย จากการเข้าตรวจพื้นที่ปฏิบัติงานของคู่ค้าที่ทำธุรกิจกับบริษัทโดยตรง (Critical Tier 1 Suppliers) และคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูงพบประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ได้แก่ เรื่องการดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน รวมถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นต้น ทั้งนี้ ในการตรวจประเมินคู่ค้าด้าน ESG บริษัทได้ร่วมให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการพัฒนากระบวนการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาความยั่งยืนให้แก่บริษัทคู่ค้า และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน อีกทั้ง บริษัทคู่ค้ายังได้แบ่งปันและให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน ทำให้ทีมงานของบริษัทได้เรียนรู้ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการของบริษัทได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ทำงานและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันและเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

บริษัทฯ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และตามหลักบรรษัทภิบาล ควบคู่ไปกับการดูแล ส่งเสริม สนับสนุนต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลในทุกๆ ด้าน อยู่ร่วม กัน เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้เผยแพร่นโยบายนี้ และสนับสนุนส่งเสริมให้คู่ค้านำหลักการดังกล่าว ไปปฏิบัติ เพื่อขยายผลออกไปสู่สังคมในวงกว้างด้วย ดังนั้นเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน

จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า ครอบคลุมถึงด้านต่างๆ ดังนี้

  1. จรรยาบรรณด้านธุรกิจ
  2. จรรยาบรรณด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน
  3. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
  4. การปฏิบัติตามกฎหมายและจริยธรรม
  5. การตระหนักด้านความเสี่ยง Risk Awareness
จรรยาบรรณคู่ค้า