NVD 1.77 บาท - (-%)
EN

บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร ผู้ถือหุ้น สังคม ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับการวางแผนกลยุทธ์ โดยพิจารณาจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายองค์กรอยู่ตลอดเวลา และเพื่อมองหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีจะมีการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายตามแผนธุรกิจ และกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ตลอดจนบูรณาการกระบวนการบริหารความเสี่ยงเข้ากับกระบวนการทำงานขององค์กร โดยพัฒนาระบบการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายในด้วยตนเอง (Risk Control Self-Assessment: RCSA) เพื่อประเมินความเพียงพอของการควบคุมที่มีการออกแบบไว้ให้สอดคล้องกับขั้นตอนการทำงาน และการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าของกระบวนการจะเป็นผู้ประเมิน และปรับปรุงการควบคุมภายในของหน่วยงานหรือการปฏิบัติงานของตนเองตามแผนงานที่กำหนด เพื่อป้องกัน หรือลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มากระทบต่อการทำงานส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดจนติดตามและรายงานผลการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาและให้ข้อคิดเห็น ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการความเสี่ยง และสนองตอบต่อความเสี่ยงของธุรกิจของบริษัทฯ ในทุกด้าน

นโยบายการบริหารความเสี่ยง

บริษัทฯ ได้จัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยง โดยกำหนดกรอบการปฏิบัติงานและกระบวนการ เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำแนวทางของ The COSO Enterprise Risk Management Framework มาปรับใช้ในการระบุและประเมินความเสี่ยงของกิจกรรมทางธุรกิจที่บริษัทฯ ดำเนินการ เพื่อจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการดำเนินงาน รวมทั้งติดตาม กลั่นกรอง ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะงานด้านการบริหารความเสี่ยงในระดับองค์กร ตลอดจนพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของบริษัท และพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และบริษัทฯ ได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานในฐานะเจ้าของความเสี่ยง (Risk Owner) มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงที่อยู่ในความรับผิดชอบ

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร (Risk Culture) โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จะกำหนดนโยบาย กรอบและแนวทางปฏิบัติ รวมถึงให้ข้อคิดเห็นที่สำคัญ เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานนำไปปฏิบัติ และติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงจัดให้มีการสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยง องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง การจัดการเหตุฉุกเฉิน/ภาวะวิกฤต และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เกี่ยวกับธุรกิจ ผ่านช่องทาง Risk Portal นอกจากนี้ บริษัทฯ สนับสนุนให้พนักงานมีทัศนคติและพฤติกรรมในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่ดี ดังนี้

  • กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง วัตถุประสงค์ กรอบการบริหารความเสี่ยง และแนวทางการบริหารความเสี่ยง
  • กำหนดให้มีการนำแนวทางไปปฏิบัติ และมีการติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับคณะกรรมการ ระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ
  • จัดให้มีการสื่อสารและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านช่องทางต่างๆ

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในเรื่องการบริหารความเสี่ยงผ่านช่องทางการฝึกอบรมให้กับพนักงานในส่วนของสำนักงานใหญ่ โดยจัดให้มีการฝึกอบรมในเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้กับพนักงานจำนวน 1 หลักสูตร และในอนาคตจะจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานตามโครงการ และโรงงานของบริษัทฯ ต่อไป

1. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)

ความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจหดตัว และภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง

สำหรับทิศทางอสังหาฯไทย ปี 2566 มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปจากการระบาดของโรคโควิด-19 ต้นทุนการพัฒนาโครงการสูงขึ้น และความต้องการที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ที่มีความไม่แน่นอน รวมถึง มาตรการรัฐที่หมดไปในสิ้นปี 2565 เช่น การลดค่าโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% รวมถึงมาตรการผ่อนคลาย LTV ทำให้ผู้ซื้อบ้านหลังที่สองขึ้นไป หรือบ้านหลังแรกที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท ต้องวางเงินดาวน์ 10-30% อาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวได้

แนวทางการป้องกัน บริษัทฯ มีการปรับกลยุทธ์การขาย โดยเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการอย่างแท้จริง (real demand) การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้งโครงการที่เหมาะสม การออกแบบที่ดี และการกำหนดราคาที่ดี การบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสม และการบริหารกระแสเงินสดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในการดำเนินงานของธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง (recurring income business) เช่น อาคารจอดรถบริเวณซอยเฉยพ่วง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และมีแผนที่จะขยายธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้บริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ และชื่อเสียง ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันอีกด้วย

2. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติงาน (Operational Risk)

ความเสี่ยงจากการจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในอนาค

เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทฯ เน้นการพัฒนาโครงการตามแนวถนนตัดใหม่ และในแหล่งชุมชน ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในการซื้อที่ดินที่มีศักยภาพสูง การจัดซื้อที่ดินในทำเลที่ไม่เป็นตามแผนธุรกิจ หรือมีความเสี่ยงจากการจัดหาและจัดซื้อที่ดินที่มีราคาแพง จะส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงาน และต้นทุนการพัฒนาโครงการและอาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาโครงการ เพื่อให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของบริษัท

แนวทางการป้องกันเพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทฯ มีการวางแผนการลงทุนระยะยาวล่วงหน้าพร้อมทั้งกำหนดแผนการซื้อที่ดินให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ สภาพคล่อง และสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ การพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนพัฒนาโครงการอย่างรอบคอบ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีกระบวนการที่รัดกุมและโปร่งใสก่อนการตัดสินใจซื้อที่ดิน โดยมีคณะทำงานพิจารณาข้อมูลการตลาด คู่แข่ง ราคาที่ดินเทียบกับราคาประเมินของราชการ และราคาประเมินของผู้ประเมินอิสระ ซึ่งจะนำไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาทำเลและราคาที่เหมาะสมกับนายหน้าที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท ทำให้สามารถลดความเสี่ยงอันเนื่องจากการไม่สามารถจัดหาที่ดินในทำเลและราคาที่สอดคล้องกับแผนงานทางธุรกิจของบริษัทได้

ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นราคาวัสดุก่อสร้าง

เนื่องจากวัสดุก่อสร้างเป็นวัตถุดิบหลักในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ราคาต้นทุนของวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจึงส่งผลกระทบในทางลบต่อการควบคุมต้นทุนพัฒนาโครงการของบริษัทฯ โดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวน โดยผลกระทบจากปัญหาราคาเหล็กตลาดโลกแพงขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 5% ของราคาขาย แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อลูกค้าลดลง โดยหมวดราคาวัสดุก่อสร้างหลักที่เพิ่มขึ้น 3 รายการได้แก่ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา โดยราคาเหล็กในตลาดโลกมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหมวดแรงงานไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวทางการป้องกัน บริษัทให้ความสำคัญในการติดตามราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงอย่างใกล้ชิด โดยบริษัทประเมินต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการทั้งหมดตั้งแต่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนเพื่อสะท้อนต้นทุนทั้งหมดและพิจารณาราคาขายที่เหมาะสม การควบคุมราคาวัสดุก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ต้นทุนพัฒนาโครงการปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ อย่างมีนัยสำคัญ บริษัทฯ จึงได้ ให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว

ความเสี่ยงจากการขาดแคลนผู้รับเหมาและแรงงานฝีมือ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชะลอ แผนการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ รวมไปถึงการชะลอการก่อสร้างและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ในช่วงเดือน พ.ค. และการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเมื่อเดือน ก.ค. ยิ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินหมุนเวียนของบริษัทรับเหมาก่อสร้างอย่างหนัก แต่ภายหลังการปลดล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างและเปิดให้ดำเนินงานก่อสร้างได้ ทำให้หลายบริษัท อสังหาริมทรัพย์เร่งระดมแรงงาน และบริษัทรับเหมาเพื่อเร่งงานก่อสร้างโครงการที่มีแผนจะส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์

แนวทางการป้องกัน สำหรับการลดการใช้แรงงานด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้าง บริษัทได้ปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างบางส่วนจาก “ระบบการก่อสร้างแบบดั้งเดิม” (Conventional Construction) มาเป็น “ระบบการก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป” (Precast Construction) โดยจะใช้ผนังและชิ้นงานสำเร็จรูปซึ่งผลิตจากโรงงานมาประกอบ ซึ่งช่วยให้บริษัทลดการพึ่งพาแรงงานลง และช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้นแต่ยังคงรักษาคุณภาพได้ตามมาตรฐานงานก่อสร้าง

3. ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk)

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและการจัดหาแหล่งเงินทุน

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและการจัดหาแหล่งเงินทุน เป็นความเสี่ยงที่สำคัญยิ่งของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาขาดสภาพคล่องจะเกิดได้จากการที่รายรับของกิจการได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ในขณะที่ยอดรายจ่ายสูง หรือกรณีที่สภาพคล่องมีน้อย แต่มีการลงทุนเพิ่มจำนวนมาก หรือมีภาวะหนี้ผูกพันระยะสั้นที่ต้องจ่ายตามกำหนดเวลาจำนวนมาก และจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศอยู่ในระดับสูง ตลอดจนผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ (Pre-Finance) และสินเชื่อสำหรับผู้บริโภค (Post-Finance) มากขึ้น

แนวทางการป้องกัน บริษัทฯ ต้องติดตามดูแลปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะกระแสเงินสดและบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างใกล้ชิด และต้องไม่ก่อหนี้จำนวนมากเกินขีดความสามารถที่จะชำระได้ อาจต้องชะลอการลงทุนที่จะก่อภาระหนี้สินจำนวนมากออกไปก่อน หากจำเป็นต้องลงทุนก็ต้องประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบรัดกุมที่สุด นอกจากนั้น จะต้องมีการเจรจาทำความตกลงกับธนาคารให้ผ่อนปรนมากที่สุดและจะต้องมีการสำรองเงินสดให้เพียงพอ และขอวงเงินกู้กับธนาคารสำรองไว้ด้วย และที่สำคัญต้องมีสัญญาณไว้คอยเตือนภัยเพื่อรู้ล่วงหน้าให้ทันเวลาก่อนที่จะเกิดปัญหา

ความเสี่ยงจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เริ่มมีการระบาดโควิด-19 ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน โดยเริ่มจากรัฐบาลส่งเงินเข้ากระเป๋าของประชาชนผ่านการใช้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ประกอบกับช่วงนั้นมีการปิดเมือง ประชาชนจึงลดการใช้จ่าย ส่งผลให้มีเงินเหลือมากขึ้น หน้าที่ของการขึ้นดอกเบี้ย คือการลดเงินที่ใช้จ่ายในระบบเพื่อส่งผลให้การบริโภคลดลง ซึ่งเป็นการชะลอปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จาก 1.00% ต่อปี เป็น 1.25% ต่อปี เมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 ที่ผ่านมา

แนวทางการป้องกัน บริษัทฯ ได้จัดให้มีการบริหารแผนการเบิกเงินกู้ และการชำระคืนเงินกู้ให้มีความเหมาะสม ตลอดจนการเจรจาขอปรับดอกเบี้ย และ/หรือการขยายระยะอายุวงเงินกับธนาคาร การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศสำหรับนิติบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (FCD) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

1. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Risk)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปัญหาโลกร้อน (Climate Change) เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งที่ผ่านมามาตรการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมยังไม่ประสบความสำเร็จ เป็นผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามมา ทั้งทางตรง เช่น ภัยพิบัติ ทางธรรมชาติ ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น และทางอ้อม เช่น การกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดและมาตรฐานใหม่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เป็นต้น บริษัทฯ จึงต้องกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ และรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจในอนาคต

แนวทางการป้องกัน บริษัทฯ ได้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง และโอกาสที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรณีต่างๆ บริษัทฯ ได้จัดหานวตกรรมที่นำสมัย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการให้บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบบ้านที่คำนึงถึงช่องแสง และช่องเปิดภายในบ้าน จากการออกแบบบ้านของเนอวานา ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด MASS & VOID ที่ช่วยส่งเสริมช่องเปิดในบ้าน ไม่เพียงแต่ช่องแสง แต่ยังหมายถึงระบบหมุนเวียนของลมภายในบ้าน ทำให้มีความปลอดโปร่งเป็นพิเศษ ทั้งยังออกแบบทิศทางของแสงให้ส่องเข้ามาในบ้านอย่างทั่วถึง แต่ไม่สร้างอุณหภูมิที่ไม่พึงประสงค์ภายในตัวบ้าน เพราะการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพในการป้องกันความร้อน สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบ Motion sensor system เทคโนโลยีของอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในบ้านเนอวานา ทำให้เกิดความสะดวกสบายหลายอย่างต่อการอยู่อาศัย และ EV Charger Support ซึ่งตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อน และสอดคล้องกับนโยบายของกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ในปัจจุบัน ด้วยการใส่ Plug in ภายนอกบ้านบริเวณที่จอดรถ พร้อมตอบสนองให้กับผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทุกรูปแบบ นอกจากนี้บริษัทฯ มีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์ และรณรงค์ ส่งเสริม ให้พนักงานประหยัดพลังงาน ลดปริมาณการใช้น้ำ ลดปริมาณของเสีย เพื่อเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง

2. ความเสี่ยงด้านสังคม (Social Risk)

ความเสี่ยงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

บริษัทฯ มุ่งดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานของบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มจากการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางสากลตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) และปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) รวมถึงกฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศที่บริษัทประกอบธุรกิจ

จากการขาดแคลนแรงงานในการรับบุคลากร เนื่องจากภาวะการแข่งขันของตลาดแรงงานที่มีฝีมือค่อนข้างสูง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกที่กำลังเข้าสู่ยุค Aging Society ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้สร้างแรงจูงใจ โดยการมอบสวัสดิการและผลตอบแทนที่เหนือกว่าคู่แข่ง พร้อมกับการจัดทำ career Path ที่ชัดเจน นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาฝึกงานในหลายหน่วยงาน เพื่อเป็นการชักชวนผู้ที่สนใจและมีศักยภาพเข้ามาร่วมงานกับบริษัทฯ

3. ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ (Compliance Risk)

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

การดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับหลายฉบับ เช่น กฎหมายผังเมือง พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พระราชบัญญัติอาคารชุด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน (zoning) เป็นต้น ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับมีข้อกำหนดที่ซับซ้อนและมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการวางแผนธุรกิจ ต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบและแนวสูง

แนวทางการป้องกัน บริษัทฯ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามไม่ครบถ้วนอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุน ระยะเวลาในการพัฒนา โครงการ และแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ก่อนการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ โดยมีคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อจำกัดทางด้านกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการมีอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งที่จะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้ อย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันเหตุการณ์

ความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act, PDPA) ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 หลังจากที่ถูกเลื่อนออกมาให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการประกาศบังคับใช้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทหลายกลุ่ม ได้แก่ ลูกค้า ร้านค้า คู่ค้า พนักงาน เป็นต้น และเกี่ยวข้องกับบุคลากรของบริษัทฯ ในหลายหน่วยงาน หลายสถานที่ตั้ง ทำให้อาจเกิดการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนตามมาตรการที่กำหนดไว้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การแจ้งนโยบายความเป็นส่วนตัวและขออนุญาตใช้ข้อมูลการดำเนินการตอบสนองตามสิทธิของเจ้าของข้อมูล การจัดการเมื่อเกิดการรั่วไหลของข้อมูล เป็นต้น

แนวทางการป้องกัน บริษัทฯ ได้แต่งตั้งทีมทำงานและตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ให้รับผิดชอบในการทบทวนกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การได้มา การจัดเก็บ การนำไปใช้การโอนย้าย และการทำลายข้อมูล เป็นต้น เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายกำหนด รวมทั้งรับผิดชอบในการสื่อสาร ให้ความรู้ และกำกับการปฏิบัติของบุคลากรในสังกัดให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในหลายขั้นตอนที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของบุคลากร

4. ความเสี่ยงด้านบริหารจัดการ

ความเสี่ยงจากกรณีที่กลุ่มบริษัท มีผู้ถือหุ้นใหญ่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการบริหารงาน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กลุ่มผุ้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ กลุ่มสมวัฒนา และกลุ่มปิยะสมบัติกุล โดยถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวนร้อยละ 59.7 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทําให้กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ดังกล่าวมีอํานาจในการควบคุมกลุ่มบริษัท และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มบริษัท ในทุกเรื่องที่ต้องได้รับอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นรายย่อยของกลุ่มบริษัท จึงมีความเสี่ยงจากการไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลเรื่องที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณานอกจากนี้ การถือหุ้นในลักษณะกระจุกตัวโดย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่นี้ยังทําให้โอกาสที่กลุ่มบริษัท จะถูกครอบงํากิจการโดยบุคคลอื่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความยินยอมจากผู้ถือหุ้นใหญ่รายนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้แต่งตั้งบุคคลภายนอก 3 ท่านเข้าเป็นกรรมการอิสระและเป็นกรรมการตรวจสอบจากกรรมการทั้งหมด 9 ท่าน จึงเป็นการถ่วงดุลอํานาจของการบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ในกรณีเข้าทํารายการที่เกี่ยวโยงกับกรรมการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และผู้มีอํานาจควบคุม รวมถึงบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งบุคคลดังกล่าวจะไม่มีสิทธิออกเสียงในการอนุมัติรายการดังกล่าว

บริษัทฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงหรือสร้างผลกระทบกับโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่แก่องค์กร โดยการประเมินและทบทวนความเสี่ยงที่เกิดใหม่ (Emerging Risk) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้

1. ความเสี่ยงจากโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เนื่องจากโลกกำลังอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและวิถีการใช้ชีวิตของเราทุกคนถ้าเรามองข้ามช่วงวิกฤต ไวรัสโควิด 19 ออกไประยะยาว ช่วงที่ผู้คนเลิกกังวลเรื่องความเสี่ยงของโรคระบาดนี้ เชื่อว่าเหตุการณ์ไวรัสโควิด 19 ครั้งนี้เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้หลายๆ เทรนด์ที่แต่เดิมเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกนานหลายปี

สำหรับบริษัทฯ จะเห็นได้ว่าต้องมีการปรับกลยุทธ์ที่แสดงให้เห็นว่าแบรนด์เข้าใจและเตรียมพร้อมในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในเรื่องความเป็นอยู่ที่มีความปลอดภัย และห่างไกลจากเชื่อโรค สำหรับบริษัทฯ ได้มีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น เพิ่มพื้นที่ทำงานภายในบ้าน การจัดทำ platform ลูกค้าสามารถเข้าชมบ้านและดูข้อมูลผ่านช่องทาง Online Platform ไม่ว่าจะเป็น Social media, 360 VR home tour, เว็ปไซต์ nirvanadaii.com, Private VDO call กับ Personal Assistant หรือ ระบบ Nirvana Online Booking ที่ให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของบ้านเนอวานาได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นการเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น เช่น Live ขายบ้าน / Booking online พัฒนาพนักงานให้เป็น Influencer ขายบ้านผ่าน Live ไม่ต้องเข้ามาชมบ้านตัวอย่างที่โครงการ ก็สามารถจองได้ สามารถดูบ้าน 360 องศา ได้ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แผ่นดินไหว พายุฝน ภาวะนํ้าท่วม ภาวะน้ำแล้ง ฝุ่นควัน และฝุ่น PM2.5 เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลต่อการบริหารทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบริษัทฯ และกระทบต่อการให้บริการลูกค้า

บริษัทฯ ได้พิจารณาและประเมินความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกโครงการ เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะมีความเสี่ยงเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน เช่น ความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหว พายุฤดูร้อน และฝุ่นควัน PM 2.5 ความเสี่ยงเรื่องนํ้าท่วมฉับพลัน และลมมรสุม พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาความเสี่ยงทั้งการติดตามโอกาสที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและการลดผลกระทบที่จะเกิดแก่บริษัทฯ เช่น การปรับปรุงสภาพความแข็งแรงของอาคารสถานที่ การเตรียมความพร้อมและจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อบรรเทาเหตุที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการสื่อสาร อบรมฝึกซ้อมแผนรองรับเหตุการณ์วิกฤต (Crisis Management) อย่างสมํ่าเสมอ เพื่อให้บุคลากรสามารถรับมือกับเหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

3. ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับฐานข้อมูลต่างๆของระบบสารสนเทศภายในองค์กร อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย ข้อมูลถูกทำลายความเสี่ยงจากผู้บุกรุกข้อมูล การโจรกรรมข้อมูลที่สำคัญ เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลผู้จัดจำหน่าย การลักลอบเข้ามาแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการด้านข้อมูล ดังนั้นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากข้อมูลสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริหาร ที่จะนำมาช่วยสำหรับการตัดสินใจและใช้สำหรับวางแผน ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลระบบสารสนเทศ จากภัยต่างๆ ทั้งจากบุคคลภายใน บุคคลภายนอก ภัยจากธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ใดๆ ต้องมีการวิเคราะห์และป้องกันเพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยี

การบริหารจัดการความเสี่ยง บริษัทฯ ได้มีการจัดทำระเบียบการจัดการระบบสารสนเทศและนโยบายความปลอดภัยด้าน IT ขึ้นใหม่ ภายใต้นโยบายและข้อบังคับเหล่านี้ บริษัทฯ ได้ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น การติดตั้งไฟร์วอลล์ ฮาร์ดแวร์คู่แฝดที่ทำงานร่วมกัน ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส ซอฟต์แวร์แพทช์ สิ่งอำนวยความสะดวกในการสำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ การอนุญาตการเข้าถึงระบบที่สำคัญ การยืนยันหรือการพิสูจน์ตัวตน การวางแผนการซ้อมกู้ระบบส่ำเสมอ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยด้าน IT ให้กับพนักงานผ่านการให้การศึกษาและการฝึกอบรม และทำการประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบเป็นประจำ

1. กรณีเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ บรรดาภาคธุรกิจใหญ่ต่างๆ ได้เตรียมแผนความ ต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCP (business continuity planning) ไม่ให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ในกรณีที่รัฐบาลประกาศการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หรือมีการปิดพื้นที่บางส่วนในกรุงเทพฯ

บริษัทฯ ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้การดำเนินกิจการต่างๆ สามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้เตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ดังนี้

  1. บริษัทฯ ได้แยกพนักงานที่อยู่ในหน่วยงานสำคัญเป็น 2 ส่วน โดยแบ่งให้กลุ่มหนึ่งทำงานที่บ้าน และอีกกลุ่มทำงานในสถานที่จัดเตรียมไว้ โดยบริษัทฯ ได้เตรียมเครื่องมือในการทำงานให้กับพนักงานที่ทำงานที่บ้าน พร้อมระบบการเข้าถึงข้อมูลภายในบริษัทฯ อย่างทั่วถึง
  2. Digital platform สำหรับการขายและบริการลูกค้า บริษัทฯ ได้จัดทำ platform ลูกค้าสามารถเข้าชมบ้านและดูข้อมูลผ่านช่องทาง Online Platform  ไม่ว่าจะเป็น Social media, 360 VR home tour, เว็ปไซต์ nirvanadaii.com, Private VDO call กับ Personal Assistant หรือ ระบบ Nirvana Online Booking ที่ให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของบ้านเนอวานาได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นการเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น เช่น Live ขายบ้าน / Booking online พัฒนาพนักงานให้เป็น Influencer ขายบ้านผ่าน Live ไม่ต้องเข้ามาชมบ้านตัวอย่างที่โครงการ ก็สามารถจองได้ สามารถดูบ้าน 360 องศา ได้จากที่บ้าน
  3. ดำเนินงานด้านการเพิ่มศักยภาพและการสร้างความรู้ในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กร (Organization Transformation) เพื่อให้ปรับตัวได้เร็วและสามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน
  4. การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

2. กรณีเหตุการณ์อุทกภัย อัคคีภัย แผ่นดินไหว ชุมนุมประท้วง

เนื่องจากสภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น เพื่อให้หน่อยงานสามารถบริหารจัดการการดำเนินงานของบริษัทฯให้มีความต่อเนื่อง การจัดหาทรัพยากรที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องระบุไว้ในแผนบริหารความพร้อมต่อภาวะวิกฤต ซึ่งการจัดเตรียมทรัพยากรที่สำคัญ จะพิจารณาจากผลกระทบใน 5 ด้านดังนี้

  1. ผลกระทบด้านอาคาร / สถานที่ปฏิบัติงานหลัก คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สถานที่ปฏิบัติงานได้รับความเสียหาย หรือไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้
  2. ผลกระทบด้านวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถใช้วัสดุอุปกรณ์สำคัญต่อการดำเนินงานได้
  3. ผลกระทบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลสำคัญ คือ เหตุการณ์ที่เกิดกับระบบข้อมูลสารสนเทศ หรือข้อมูลสำคัญไม่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานได้
  4. ผลกระทบด้านบุคลากร คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บุคลากรไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ
  5. ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ คือ เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียไม่สามารถติดต่อ ให้บริหาร หรือส่งมอบงานได้

จากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ได้เตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ดังนี้

  1. จัดตั้งทีมงานแผนบริหารความพร้อมเพื่อรับมือต่อภาวะวิกฤต โดยกำหนดนโยบาย บทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลให้ชัดเจน มีการทดสอบ และซักซ้อมเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการนำแผนไปใช้งาน
  2. วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดยกำหนดระดับของผลกระทบเป็น ระดับผลกระทบสูง ปานกลาง ต่ำ หรือไม่เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ
  3. กำหนดทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ เช่น สถานที่ปฏิบัติงานสำรอง วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น คอมพิวเตอร์ notebook โทรศัพท์มือถือ เครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร UPS ติดตั้งระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบสารสนเทศและการเก็บข้อมูลสำคัญ การทำข้อมูลสำรอง และการกู้คืนระบบ จำนวนบุคคลที่จำเป็นต้องทำงานในสภาวะวิกฤต บุคลากรทดแทน หรือบุคลากรภายนอกในกรณีไม่เพียงพอหรือขาดแคลน เป็นต้น
  4. มีการซักซ้อม ทีมงานบริหารงานต่อเนื่องตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตามแผน และนำปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นไปพิจารณาปรับแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตของแต่ละหน่วยงานต่อไป