NVD 1.81 บาท +0.04 (2.26%)
EN

การลดมลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

มลพิษทางอากาศ คือ การปนเปื้อนของสภาพแวดล้อม ทั้งในร่มและกลางแจ้งโดยสารเคมี หรือสารชีวภาพใด ๆ ซึ่งปรับเปลี่ยนลักษณะทางธรรมชาติของบรรยากาศในบริเวณดังกล่าวให้มีความเป็นพิษสูงขึ้น โดยแหล่งกำเนิดของสารมลพิษทางอากาศมีมากมายหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้ในครัวเรือน การสันดาปยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และไฟป่า โดยสิ่งเหล่านี้จะปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบมากมาย

สถานการณ์มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และกำลังเลวร้ายลงทุกวัน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน วิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยข้อมูลเชิงสถิติพบว่า ในปี 2564 ค่าเฉลี่ยความเป็นพิษของอากาศในประเทศไทยมีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 21 มคก./ลบ.ม. ฝุ่นละออง PM10 อยู่ที่ 40 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ

บริษัทฯ ในฐานะผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้การดำเนินกิจกรรมหลักไม่ได้ปล่อยก๊าซพิษที่เป็นพิษร้ายต่อมนุษย์ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่การดำเนินกิจกรรมหลักของบริษัท ทำให้เกิดการกระจายของฝุ่นละออง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ PM2.5 และ PM10 บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาฝุ่นละอองที่เพิ่มมากขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก บริษัทฯ จึงมีแนวทางในการลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองการก่อสร้าง ดังนี้

บริเวณสถานที่ก่อสร้าง และทางเข้าออกโครงการก่อสร้าง

  • ควรจัดอุปกรณ์และสถานที่สำหรับล้างทำความสะอาดล้อและตัวถังรถ ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง
  • จัดทำรั้วทึบแข็งแรง สูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร รอบสถานที่ก่อสร้างและมีสิ่งปกคลุมทางเดิน สำหรับป้องกันวัสดุตกหล่นลงในที่สาธารณะ
  • จัดทำทางเข้าออก บริเวณทางเข้าออกเปิดเฉพาะเมื่อมีรถเข้าออก โดยปูคอนกรีตบริเวณทางเข้าออก
  • ทางเข้าออกโครงการเพียงทางเดียวเท่านั้น ต้องไม่กีดขวางช่องทางน้ำไหล และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบระบายน้ำ หรือกีดขวางช่องทางน้ำสาธารณะ
  • อาคารก่อสร้างที่ติดกับที่สาธารณะ ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องดูแลรักษาความสะอาดทางเข้า ถนน และที่สาธารณะที่อยู่ติดกับที่ก่อสร้างด้วย
  • ล้างทำความสะอาดตัวรถและล้อรถ ก่อนนำรถทุกชนิดออกจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยจัดหาบริเวณที่ใช้ล้างทำความสะอาดใกล้บริเวณทางเข้าออก

การจัดการวัสดุก่อสร้าง

  • ควรบรรจุผงซีเมนต์ หรือเคมีภัณฑ์ในภาชนะที่ปปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการฝุ่นกระจาย
  • กองวัสดุที่มีฝุ่น ควรปิดหรือคลุมในที่ปิดล้อมทุกด้าน หรือฉีดพรมน้ำให้ผิวเปียกอยู่เสมอ
  • เมื่อมีการขนย้ายวัสดุที่มีฝุ่น ต้องฉีดพรมน้ำก่อนย้ายทันที

การควบคุมฝุ่นละอองและเศษฝุ่น

  • ต้องรักษาความสะอาดในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
  • ล้างท่อระบายน้ำ ทำความสะอาดทางระบายน้ำสาธารณะบริเวณที่ก่อสร้างไม่ให้มีเศษวัสดุจากงานก่อสร้าง
  • ต้องจัดการซ่อมแซมถนน ทางสาธารณะ หรือสาธารณูปโภคที่เสียหายให้อยู่ในสภาพดี
  • ระหว่างการ ขุด เจาะ ตัด ขัดผิว ควรใช้น้ำ หรือ สารเคมี ฉีดตลอดเวลา เป็นการป้องกันฝุ่นได้ เพราะระหว่างทำขั้นตอนก่อสร้างไม่ว่าจะวิธีใด เป็นการสร้างฝุ่นจำนวนมากและต่อเนื่อง
  • ระหว่างการ ขุด เจาะ ตัด ขัดผิว ควรใช้น้ำ หรือ สารเคมี ฉีดตลอดเวลา เป็นการป้องกันฝุ่นได้ เพราะระหว่างทำขั้นตอนก่อสร้างไม่ว่าจะวิธีใด เป็นการสร้างฝุ่นจำนวนมากและต่อเนื่อง

เนื่องจากบริษัทฯ มีโรงงานผลิตแผ่นพรีคาสท์เป็นของตนเอง จึงเพิ่มแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ลดจำนวนเที่ยวการขนส่ง จากการพัฒนานวัตกรรม Light Weight Concrete  มีการตรวจรถขนส่งแผ่นพรีคาสท์ทุกคัน และแก้ไขรถที่มีควันดำ รณรงค์ให้พนักงานและรถบรรทุกทุกคัน ไม่ติดเครื่องรถทิ้งไว้เมื่อไม่จำเป็น รวมไปถึงการจัดให้มีการล้างถนนวันละสองครั้ง พร้อมเพิ่มการพ่นน้ำที่ถนนและกองกรวดทรายให้มากขึ้น

บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท ซี.ที. เอ็นไวร์รอนเมนท์ แอนด์ เคมีคัล จำกัด เพื่อตรวจวัดคุณภาพในอากาศในโครงการก่อสร้างของบริษัท โดยเริ่มเก็บข้อมูลของเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2566 พบว่า บริเวณพื้นที่โครงการ มีค่า Total Suspended Particulate Matter (TSP) และ Particulate Matter Less Than 10 Micron (PM-10) มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อเทียบกับประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2547) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 104 ของวันที่ 22 กันยายน 2547 (ค่ามาตฐาน TSP = 0.330 mg/m3 และ PM-10 = 0.120 mg/m3)

บริษัทฯ มีเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ โดยมีค่า Total Suspended Particulate Matter (TSP) และ Particulate Matter Less Than 10 Micron (PM-10) เฉลี่ยลดลงร้อยละ 5 ของปริมาณของมลพิษทางอากาศจากปีฐาน (ปีฐาน คือ ปี 2566)

นอกจากนี้บริษัทฯ จัดทำระบบบันทึกข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นเพื่อติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้า และชุมชนเพื่อนำไปปรับปรุงวิธีการลดผลกระทบจากภาวะฝุ่น   ซึ่งบริษัทฯ จะเร่งดำเนินการ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษร่วมกับทางกรุงเทพมหานครต่อไป