NVD 1.81 บาท +0.04 (2.26%)
EN

การจ้างงาน

บริษัทฯ ยึดหลักจริยธรรมในการสรรหาและว่าจ้าง โดยจะคัดเลือกบุคคลเพื่อว่าจ้างให้เหมะสมกับตำแหน่งนั้นๆ ด้วยความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงคุณสมบัติในแต่ละตำแหน่งงาน วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ และข้อกำหนดการจ้างงานอื่นๆที่จำเป็น โดยเคารพและให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่กีดกันเรื่องเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือความบกพร่องทางด้านร่างกาย โดยกระบวนการคัดเลือกสรรหาพนักงาน จะมีผู้สัมภาษณ์อย่างน้อย 3 คน เพื่อคัดสรรผู้มีมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดในตำแหน่งงานนั้นๆ

จำนวนพนักงานของบริษท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) และในเครือ

กลุ่มงาน / สายงาน / หน่วยงาน ชาย หญิง รวม
สายงานเจ้าหน้าที่บริหาร 8 16 24
สายงานขายและการตลาด 12 23 35
สายงานบัญชีและการเงิน 10 14 24
สายงานกลยุทธ์และการลงทุน 4 7 11
สายงานพัฒนาโครงการ 34 26 60
สายงานวัสดุก่อสร้าง 13 8 11
จำนวนพนักงานทั้งหมดในปี 2565
175 คน
ชาย หญิง
81 คน 94 คน
คิดเป็นร้อยละ
46 54

จำนวนพนักงานที่เข้าใหม่ จำแนกตามระดับ และเพศ ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565

ระดับ ชาย หญิง ประจำ สัญญาจ้าง รวม
O-M 11 17 28 - 28
SM-VSP 5 5 10 - 10
EVP-SEVP 2 - 2 - 2
จำนวนพนักงานทั้งหมดในปี 2565
175 คน
ชาย หญิง
18 คน 22 คน
คิดเป็นร้อยละ
45 55

ข้อมูลสถิติการลาออกของพนักงาน ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565

ระดับ ชาย หญิง ประจำ สัญญาจ้าง รวม
O-M 21 26 47 - 47
SM-VSP 5 2 7 - 7
EVP-SEVP 2 - 2 - 2
จำนวนพนักงานทั้งหมดในปี 2565
175 คน
ชาย หญิง
28 คน 28 คน
คิดเป็นร้อยละ
50 50

บริษัทฯ ถือว่าพนักงานบริษัทฯทุกคนเป็นตัวแทนของบริษัทในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ดังนั้น พนักงานทุกคนจะไม่ถูกเลิกจ้าง เว้นแต่จะมีการกระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามกฎระเบียบการทำงานของบริษัทฯ ที่กำหนดไว้ บริษัทฯ มีระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน และจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย

ตั้งแต่ปี 2560 บริษัทฯ ได้เริ่มนำการประเมินผลการปฏิบัติงานเข้ามาใช้กับพนักงานทั้งองค์กรประกอบไปด้วยตัวชี้วัดผลงานหลัก (Key Performance Indicator) และ ขีดความสามารถ (Competency) โดยได้นำผลการประเมินมาใช้ในการบริหารจัดการ ทางด้านการจ่ายผลตอบแทน การฝึกอบรมและพัฒนาและความก้าวหน้าในสายอาชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีสวัสดิการให้กับพนักงาน เช่น ค่าเดินทางเบิกได้ตามจริง ค่าโทรศัพท์ อาหารกลางวันจำนวน 2 ครั้งต่อเดือน สถานที่ออกกำลังกายให้กับพนักงาน (ฟิตเนส) ตรวจสุขภาพประจำปี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ค่าทันตกรรม ชุดยูนิฟอร์ม กิจกรรมนอกสถานที่ (Outing) บ้านพักสวัสดิการ

บริษัทฯ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อส่งเสริมการออม และการสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับพนักงานทุกคน โดยบริษัทฯ เลือกใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย มาสเตอร์ พูล ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว และมีหลักเกณฑ์ในการสมทบเงินกองทุนให้กับพนักงาน ดังนี้ พนักงานจ่ายเงินสะสมตามอายุงาน ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 และไม่เกินร้อยละ 7 ของค่าจ้าง บริษัทฯ จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงาน 175 คน จำนวนพนักงานที่เข้าร่วมกองทุนจำนวน 121 คน คิดเป็นร้อยละ 69 ของพนักงานทั้งหมด

โดยในปี 2565 บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนพนักงานรวมเป็นจำนวนเงิน 156.08 ล้านบาท โดยพนักงานหญิงได้รับค่าตอบแทนรวมจำนวน 62.35 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของค่าตอบแทนทั้งหมด และพนักงานชายได้รับค่าค่าตอบแทนรวมจำนวน 93.72 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 ของค่าตอบแทนทั้งหมด โดยคิดเป็นค่าตอบแทนของพนักงานหญิงต่อพนักงานชาย คิดเป็นร้อยละ 66

การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล

พนักงานถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของบริษัทฯ เนื่องจากพนักงานเป็นผู้ผลักดันภารกิจต่างๆ ของกิจการให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ การส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถ ให้สอดคล้องตามเป้าหมายและกลยุทธ์ของบริษัทฯ ตลอดจนมีคุณลักษณะที่ดี และทัศนคติที่ดีต่อบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตก้าวหน้า และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของพนักงานให้สามารถรองรับการขยายตัวในอนาคต บริษัทฯ จึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาพนักงาน เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนเป้าหมายและบรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ต่อไป

การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

บริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานในทุกระดับ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาทำงานกับบริษัท ได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการทำงานให้สอดรับกับตำแหน่งงานนั้นๆ โดยบริษัทฯ มีแนวทางในการพัฒนาที่หลากหลาย เช่น การปฐมนิเทศการจัดอบรมสัมมนาทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และทิศทางการดำเนินธุรกิจประกอบ

บริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานทุกระดับ โดยได้มีการอบรมพนักงานตั้งแต่เริ่มเข้าปฏิบัติงานกับบริษัทฯ และได้เพิ่มพูน ความรู้ความสามารถองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่มีความสอดคล้องกับ Competency ของบริษัท รวมทั้ง การจัดอบรมตาม Function / Training Need ทั้งการฝึกอบรมภายในและภายนอกองค์กร แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด บริษัทฯ ยังตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพการทำงานต่อไป จึงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการฝึกอบรม โดยปี 2565 มีการอบรมทั้ง 2 รูปแบบ โดยเป็นแบบ Online และ Offline บริษัทฯ จัดหลักสูตรการฝึกอบรมภายใน รวมทั้งส่งพนักงานไปอบรมกับสถาบันภายนอก (Public Training) โดยครอบคลุมพนักงานระดับปฏิบัติการ ผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง ครอบคลุมทุกสายงานอาชีพ ในปี 2565 บริษัทมีเป้าหมายการฝึกอบรมพนักงานไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อปี โดยจำนวนชั่วโมงฝึกอบรมเฉลี่ยทั้งปี 7.96 ชั่วโมง/คน/ปี

การประเมินความสามารถของพนักงานตามตำแหน่งงาน

บริษัทได้จัดทำแบบประเมินความสามารถของพนักงาน ทั้งในเรื่องความสามารถในการทำงานไปจนถึงศักยภาพที่ช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จ สิ่งนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานในแต่ละบุคคลได้ดีอีกด้วย นอกจากจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าองค์กรควรจะต้องปรับปรุงเรื่องใด พนักงานควรจะพัฒนาตัวอย่างไร ทักษะด้านไหนของพนักงานแต่ละคนที่ควรได้รับการพัฒนา แก้ไขจุดบกพร่อง พัฒนาจุดเด่น สิ่งสำคัญอีกอย่างของการประเมินผลการปฎิบัติงานก็คือการเป็นดรรชนีชี้วัดความสำเร็จของการทำงาน ซึ่งมีผลต่อการเลื่อนตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน พิจารณาโบนัส หรือแม้แต่เลิกจ้างพนักงานแต่ละคน

การบริหารคนเก่ง (Talent Management)

“คนเก่ง” หรือ Talent หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถ และมีคุณสมบัติในการนำตัวเองไปสู่ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น สามารถแก้ปัญหาได้ดี วางแผนป้องกันปัญหาได้ เรียนรู้ได้รวดเร็ว มีความกระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ทั้งภายในได้แก่ เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา

การที่จะดูแลรักษาให้คนที่เก่งและมีพรสวรรค์ทำงานให้กับองค์กรในระยะยาวได้นั้นปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยมากที่จะช่วยรักษาให้คนเหล่านี้ร่วมงานกับองค์กรได้ตลอดไป ซึ่งเคล็ดลับดังกล่าวนั้นก็ไม่ใช่เรื่องตายตัวเสมอไป รวมถึงมีการสร้างเคล็ดลับใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอในการที่จะดึงคนเก่งและคนมีความสามารถมาร่วมงานกับองค์กรได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการปรับตัวขององค์กรแต่ละองค์กรให้เหมาะสมกับตนด้วยนั่นเอง แต่หากสามารถบริหารบุคลากรที่เก่งและมีพรสวรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดึงดูดใจให้ทำงานให้กับองค์กรได้ ก็จะเป็นเคล็ดลับสำคัญสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรที่ยอดเยี่ยมทีเดียว

บริษัทได้ค้นหาคนเก่งจากบุคลากรในบริษัท โดยคัดเลือกจากผลคะแนนประเมินประจำปี กระบวนการคัดเลือกกลุ่ม Talent จะพิจารณาจากผู้ที่มีผลงานหรือมีผลการปฏิบัติงานที่ย้อนหลัง 3 ปี ที่อยู่ในระดับดี-ดีมาก และมีผลคะแนนภาวะความเป็นผู้นำอยู่ในช่วงคะแนนที่กำหนด โดยพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับการพัฒนารายบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเอง และการเตรียมความพร้อมให้กับตำแหน่งที่จะได้รับในอนาคต โดยแผนการอบรมจะจัดทำโดยผู้บังคับบัญชาการ และฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล และติดตามผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การบริหารแผนการเกษียณอายุของพนักงาน

บริษัทฯ ได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงาน เพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานกับบริษัทฯ ในระยะยาว ในปี 2565 บริษัทฯ มีเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 3-7 เป็นเงินจำนวน 39.78 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย มาสเตอร์ พูล ฟันด์ เป็นผู้บริหารกองทุน

ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร

บริษัทฯ กำหนดนโยบายเพื่อเสริมสร้างให้พนักงานมีความสุข เช่น นโยบายการปฏิบัติงาน Work from home การประกาศมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการแจกหน้ากาก เจลแอลกอฮอลล์ การจัดพื้นที่ปฏิบัติงานในรูปแบบ Social distancing เพื่อลดความเสี่ยงและความแออัดในการปฏิบัติงาน

บริษัทฯ ได้จัดสัมมนาบริษัทขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (ยกเว้นปี 2563-2564 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19) โดยจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้บริหารและพนักงาน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี การแข่งขันกีฬา การจัดเลี้ยงสังสรรค์ ประกาศผลรางวัลให้กับทีมที่ชนะการแข่งขัน รางวัลพนักงานดีเด่นประจำปี ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพนักงานที่มีอายุงานครบ 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานและองค์กร

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีการสำรวจความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร เพื่อสำรวจความคิดเห็นในด้านต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการ ซึ่งทางบริษัท ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดและปรับปรุงนโยบายต่างๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยืดหยุ่นกับพนักงานยิ่งขึ้น โดยในปี 2565 บริษัทมีเป้าหมายในการประเมินความพึงพอของพนักงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และผลการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กร ประจำปี 2565 เท่ากับร้อยละ 88

การรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร

บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติต่างๆ เช่น การสื่อสารนโยบายและเป้าหมายขององค์กร แบบ Town hall ผ่าน Microsoft Team ซึ่งผู้บริหารระดับสูงได้ถ่ายทอดแผนธุรกิจขององค์กรให้กับพนักงานทุกคนทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจในทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน การเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถโยกย้ายหน่วยงานภายในองค์กรได้ เพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ พัฒนาทักษะความสามารถให้มีความหลากหลาย จากการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ มีการปรับเวลาเข้า-ออกงานให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และนโยบายการปฏิบัติงาน Work from home

นอกจากนี้บริษัทฯ มี NVD MORNING TALK 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้แต่ละหน่วยงานแจ้งข้อมูล ข่าวสารให้กับหน่วยงานอื่นๆ ให้ความรู้ความเข้าใจ เป็นช่องทางสื่อสารภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานทุกคนรับทราบข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบันและทิศทางการดำเนินงานของบริษัท เพื่อให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

การรวมกลุ่มเจรจาต่อรองสิทธิประโยชน์ของพนักงาน

บริษัทฯ จะเคารพสิทธิพนักงานในการสมาคม หรือ รวมกลุ่มในรูปแบบใดๆที่ไม่ขัดต่อกฎหมายรวมถึงการเข้าร่วมใน

กระบวนการเจรจาต่อรองตามขั้นตอนของกฎหมาย รายละเอียด ดังนี้

  1. บริษัทฯ จะเคารพสิทธิ เสรีภาพของพนักงานทุกคนที่จะคบหาสมาคมกันได้อย่างเสรี และไม่ก่อให้เกิดความ เดือดร้อนใดๆ แก่พนักงาน บริษัทฯ และชุมชน
  2. บริษัทฯ จะเคารพสิทธิของพนักงานในการรวมตัวจัดตั้งและร่วมเป็นสมาชิก เป็นกลุ่ม หรือคณะกรรมการอื่นๆใน บริษัท และยอมรับการร่วมเจรจาต่อรอง การคัดเลือกหรือตั้งผู้แทนโดยไม่กระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิของพนักงาน
  3. บริษัทฯ จะให้การรับรองผู้แทนพนักงานที่ได้รับการสรรหาคัดเลือกจากฝ่ายพนักงาน โดยจะได้รับการอำนวยความ สะดวก และได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับพนักงานคนอื่น โดยไม่กลั่นแกล้ง โยกย้าย เลิกจ้างหรือไม่กระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม

บริษัทฯ มีช่องทางการร้องทุกข์ต่อข้อปฏิบัติด้านแรงงานอย่างชัดเจน เพื่อรับการร้องเรียนจากผู้บริหาร พนักงาน ซึ่งพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้การคุ้มครองกับพนักงานที่ร้องทุกข์ต่อข้อปฏิบัติด้านแรงงานตามกฎหมายที่กำหนด โดยข้อร้องเรียนจะถูกส่งให้กับประธานกรรมการบริษัทฯ ให้รับทราบโดยตรง โดยมีช่องทางในการร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ดังนี้

ช่องทางที่ 1 ทางไปรษณีย์
สามารถแจ้งข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการตรวจสอบบริษัท เนอวานา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 123 อาคารซันทาวเวอร์ส เอ ชั้น 11 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

ช่องทางที่ 2 ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
Vichien.Je@nirvanadevelopment.co.th

ผู้รับแจ้งข้อร้องเรียนจะเป็นผู้ดูแล รวบรวม กลั่นกรองข้อมูล และนําส่งเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้แก่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อพิจารณาในเบื้องต้น หลังจากนั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะเป็นผู้พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน และ/หรือ หน่วยงานกํากับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทฯ และ/หรือ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องและความเพียงพอของข้อมูล รวมถึงข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อดําเนินการสอบสวน ภายหลังการสอบสวนข้อเท็จจริง ในกรณีที่พบว่ามีมูลความจริง หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้สรุปรายงาน และเสนอรายงานต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อพิจารณาการดําเนินการข้อร้องเรียนต่อไป

  • ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน/ผู้แจ้งเบาะแส จะได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม เช่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายตําแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทํางาน พักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือ การอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
  • ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน/การแจ้งเบาะแส จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ ไม่เปิดเผยต่อบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่จําเป็นจะต้องเปิดเผยตามข้อกําหนดของกฎหมาย
  • บุคคลใดๆ ที่ได้รับทราบเรื่องร้องเรียน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยคํานึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน/แจ้งเบาะแส แหล่งที่มาของข้อมูล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่กรณีที่มีความจําเป็นในขั้นตอนการดําเนินการ หรือ ตามที่กฎหมายกําหนด หากมีการจงใจฝ่าฝืนนําข้อมูลไปเปิดเผย บริษัทฯ จะดําเนินการลงโทษทางวินัยและ/หรือ ดําเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนแล้วแต่กรณี

บริษัท เนอวานา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างคนพิการ โดยดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม